เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้มีการปรับกฎหมายโรงงานครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศพระราชบัญญัติโรงงานฉบับปี 2562 ออกมา ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมโรงงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความทันสมัยมากขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันและยังช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวมีโอกาสเติบโตได้ง่ายยิ่งขึ้น
ยกเว้นประเภทโรงงานที่ไม่เข้าข่ายถูกควบคุม
จาก พรบ. โรงงานฉบับใหม่ มีการยกเว้นประเภทโรงงานที่ไม่เข้าข่ายถูกควบคุม ได้แก่ โรงงานของทางราชการ โรงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย โรงงานของสถาบันการศึกษาในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกอบรม โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวและโรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่มิใช่โรงงานตามพระราชบัญญัตินี้และตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีข้อดีคือช่วยเปิดกว้างให้การตั้งโรงงานเพื่อศึกษาหาความรู้เป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
ปรับขนาดโรงงานที่ถูกควบคุม
แต่เดิมโรงงานที่จะต้องถูกควบคุมคือโรงงานที่มีกำลังเครื่องจักรเพียง 5 แรงม้าหรือมีคนงานมากกว่า 7 คนขึ้นไป ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีโอกาสเติบโตได้ยาก ดังนั้นกฎหมายฉบับใหม่จึงมีการปรับแก้ไขนิยามของโรงงานที่ถูกควบคุมเป็นโรงงานที่มีกำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าหรือมีคนงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป
เพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบ
เนื่องจากบุคลากรของหน่วยงานราชการมีจำกัด การขออนุญาตเพื่อดำเนินการตรวจสอบโดยหน่วยงานราชการเพียงหน่วยเดียวจึงต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้เอกชนหลายรายขาดความคล่องตัวในการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งในกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้ระบุไว้ว่าหน่วยงานเอกชนก็สามารถดำเนินการตรวจสอบโรงงานแทนหน่วยงานราชการได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตรงตามที่กฎหมายโรงงานกำหนด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเอกชน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในโลกธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ทางกรมโรงงานยังได้เพิ่มวิธีการให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบตนเองว่าดำเนินการสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจสอบและดำเนินการที่สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย
ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงสภาพแวดล้อมส่วนต่าง ๆ ของอาคารโรงงานจะต้องถูกต้องตามหลักวิศวกรรมสถาน มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานด้วย
ปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียม
เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดภาระทางการเงินต่อผู้ประกอบการใหม่มากเกินไป กฎหมายใหม่จึงมีค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตเพียง 100 บาทเท่านั้น แต่เมื่อมีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กรมโรงงานกำหนด จึงจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราสูงหรือที่ 300,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะเตรียมความพร้อมด้านการเงินต่าง ๆ ก่อนเริ่มดำเนินการ
ความชัดเจนในการขยายกิจการ
พ.ร.บ. กฎหมายโรงงานใหม่นี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ สามารถขยายศักยภาพในการแข่งขันได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอเอกสาร มีการแบ่งระดับกำลังของเครื่องจักรและแรงงานในการขยายโรงงานไว้อย่างชัดเจน จึงลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการขออนุญาตได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่นี้ได้มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 หรือหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้เป็นระยะเวลา 180 วัน แต่หากโรงงานใดที่ได้ขอใบอนุญาตไว้ก่อนแล้ว จะยังคงใช้ใบอนุญาตเดิมได้ต่อไป โดยจะระบุในใบอนุญาตว่าอ้างอิงตามพระราชบัญญัติโรงงานฉบับเดิมนั่นเอง