ปิด

ประชาชนมั่นใจเศรษฐกิจไทย หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Gross Domestic Product (GDP)

ที่มา : ดัดแปลงจากข้อมูลผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8882

จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างน้อย โดยตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อ้างอิงจาก สศช. ตั้งแต่ปี 2557- ปี 2561 มีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ระหว่าง 1.0%-4.1% และในปี 2562 ประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 3.3%-3.8% ซึ่งช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 มีอัตราการเติบโตเพียง 2.8% เป็นผลจากการชะลอตัวของภาคส่งออก ที่ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน การแข็งค่าของเงินบาท และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนไทยและต่างชาติชะลอตัวลง จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในปี 2562 นี้ ที่จะรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างความกินดี อยู่ดี นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศ

Expansion of private consumption

ที่มา : คัดลอกจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) .ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8886

ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2562 มีรายงานว่าธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ทั้งปีลงจาก 3.8% เหลือ 3.5% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการของไทยลดลง โดยปรับลดประมาณการการส่งออกของปี 2562 จากเดิมคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 5% ลงมาอยู่ที่ 2.2%

ประชาชนมั่นใจเศรษฐกิจไทยหลังจัดตั้งรัฐบาล

ในไตรมาสแรกของปี 2562 ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจด้านอื่น (องค์ประกอบอื่นของ GDP) จะมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่ การลงทุนรวมและการส่งออก อย่างไรก็ตาม พบว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ยังมีการขยายตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและประชาชนในเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี อันเป็นผลจากการประกาศจัดการเลือกตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2562 การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และผลจากความคืบหน้าของนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

Expansion of private investment

ที่มา : การบริโภคภาคเอกชน. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562. สศช https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8886

จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนเติบโตอยู่ในระดับสูงที่ 4.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.4% เป็นผลจากการขยายตัวของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนจากดำเนินนโยบายดูแลผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล และการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 68.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 67.4 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 (ข้อมูลจาก สศช.)

Expansion of private investment

ที่มา : ข้อมูลการลงทุนภาคเอกชน. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562. สศช https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8886

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนก็ยังสามารถขยายตัวได้ดีในอัตรา 4.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.5% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้างภายในประเทศ เช่น การนำเข้ารถยนต์ การจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จและเสาเข็ม การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และการจำหน่ายกระเบื้อง เป็นต้น โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 50.7 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 (ข้อมูลจาก สศช.)

นอกจากนี้ ภายหลังการประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังคาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการที่รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่ดำเนินการแล้วบางส่วนได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย จึงน่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรไทย และการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในการขยายฐานการผลิตและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ

จะเห็นว่านับตั้งแต่การประกาศจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สามารถสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยทยอยเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ที่ยังเหลืออยู่ และเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ให้แล้วเสร็จทันการใช้จ่ายปีงบประมาณหน้าในเดือน ต.ค. 2562 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ภาคเอกชน และผู้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ความท้าทายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
  • 1) การส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เช่น การส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันการค้าในตลาดจีนและตลาดสหรัฐอเมริกา, การขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศในภูมิภาค และการส่งเสริมบรรยากาศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวไทย ทั้งด้านความปลอดภัยและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย เป็นต้น
  • 2) การดำเนินนโยบายการใช้จ่ายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญและเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ให้แล้วเสร็จ เพื่อป้องกันความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • 3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC, การพัฒนาโครงข่าย 5G, การย้ายฐานการผลิตของต่างประเทศมายังประเทศไทยอันเป็นผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
  • 4) การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเน้นทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของไทย และเพิ่มการขยายฐานการผลิตในไทยจากการกีดกันการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
  • 5) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรและลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางรายได้ เช่น การจัดหาตลาด, การส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสินค้า, การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำ เป็นต้น
  • 6) สุดท้าย คือ ความท้าทายของรัฐบาลในการหารายได้เพื่อครอบคลุมรายจ่าย และการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย ทั้งการจัดเก็บภาษี การออกพันธบัตรรัฐบาล การกู้ยืมเงิน โดยคำนึงถึงการจัดโครงสร้างทางภาษีที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลที่อาจกระทบต่อความต่อเนื่องและการดำเนินนโยบายรัฐ ยังเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักลงทุนไทยและต่างชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

แหล่งที่มา :
https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8886
https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8882
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1577409
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1572080
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1574206
https://siamrath.co.th/n/89390