ปิด

เขต Freezone คืออะไร และได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

What is a Free Zone and What Benefits Does It Offer?
หากพูดถึงเขตอุตสาหกรรมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่นึกถึง นิคมอุตสาหกรรม หรือ สวนอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ที่เรียกว่าเขต Free Zone แต่พื้นที่นี้คืออะไร และมาพร้อมสิทธิประโยชน์เรื่องไหนบ้าง

ทำความรู้จักเขต Free Zone
เขต Free Zone หรือ “เขตปลอดอากร” หมายถึงเขตพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากรให้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าให้กับนักลงทุนไทยและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในเขต Free Zone จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบหรือส่งออกสินค้าตามที่กฎหมายบัญญัติ

สิทธิประโยชน์ของเขต Free Zone
เนื่องจากจุดประสงค์ของการกำหนดเขต Free Zone คือการส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุน ด้วยเหตุนี้การประกอบกิจการในเขต Free Zone จึงมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมายดังต่อไปนี้
  • เมื่อนำเข้าอุปกรณ์สำหรับสร้างโรงงาน อุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรม รวมถึงกิจการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศชาติจะได้รับการยกเว้นอาการขาเข้า
  • เมื่อส่งออกสินค้าจากเขต Free Zone ออกนอกราชอาณาจักรจะได้รับการยกเว้นอากรขาออก
  • ได้รับการยกเว้นหรือคืนอากรเมื่อนำเข้าของที่ได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีขาออกเมื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร 
  • ผู้ประกอบการในเขต Free Zone สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ใต้ข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก การครอบครอง และการใช้ประโยชน์ของที่นำเข้าหรือวัตถุดิบ 
คุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการในเขต Free Zone
สำหรับการขอดำเนินกิจการในเขต Free Zone ต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากรเช่นเดียวกับผู้ขออนุญาต โดยผู้ที่มีสิทธิขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
  • เป็นนิติบุคคลที่มีการเงินมั่นคง
  • ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หากเป็นบริษัทจำกัดต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ยกเว้นกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ หรือสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน
  • จะต้องมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ รวมถึงจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเขตปลอดอากร
  • ผู้ถูกสั่งพักการใช้ใบอนุญาตจะไม่สามารถยื่นขออนุญาตได้จนกว่าจะครบกำหนดการพัก และหากถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะทำการยื่นขอใหม่ได้ 
เงื่อนไขการประกอบกิจการในเขต Free Zone
การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขต Free Zone นอกจากเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 5,000 บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 15,000 บาทแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของกรมศุลกากร ไม่ว่าจะเป็น
  • จัดทำรายงานตามรูปแบบที่กรมศุลกากรกำหนด โดยจัดทำเป็นรายงวด 6 เดือน
  • ยินยอมให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเข้าตรวจนับของคงเหลืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หากมีความเสี่ยงหรือผลดำเนินกิจการขาดทุนต้องมีการวางค้ำประกัน
จากข้อมูลจะเห็นว่าการขอประกอบกิจการในเขต Free Zone มีข้อดีในเรื่องของการลดต้นทุนทางภาษีและเงื่อนไขในการประกอบกิจการ เช่นเดียวกันกับ สวนอุตสาหกรรม 304 ซึ่งเป็นที่ดิน นิคมอุตสาหกรรม ที่มีพื้นที่ในเขต Free Zone อยู่ที่สวนอุตสาหกรรม จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและด้านที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติมอีกด้วย มั่นใจได้ด้วยบริการอย่างครบวงจรจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำปรึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่มาข้อมูล 
  • https://www.customs.go.th/data_files/ca67aabbda3127c8919c96a56836d48d.pdf
  • https://www.customs.go.th/data_files/ed50ada686423371f4e082295d5e0150.pdf
  • https://ecs-support.github.io/knowledge-center/customs-clearance/docs/tax-incentive/freezone/
  • https://www.cttlogistics.co.th/en/post/cttlogisticssss9876544