ปิด

สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นประมาณ 3.93% และยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 10 ก.ค. 2562 อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 30.8540 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นคือ เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลง หรือกล่าวได้ว่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 (รายละเอียดตามกราฟ)


Average exchange rate of the Siam Commercial Bank

ที่มา : ดัดแปลงจากข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครของธนาคารแห่งประเทศไทย

จากสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและในอัตราค่อนข้างมากนับตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2562 มีสาเหตุมาจากปริมาณเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าปกติในช่วงระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากภาวะความผันผวนของตลาดการเงินของโลก ซึ่งถูกกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังไม่คืบหน้า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลง ทำให้มีการไหลของเงินลงทุนจากต่างประเทศมายังกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยนักลงทุนต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทไทยมากกว่าเงินสกุลอื่นของประเทศเกิดใหม่ จึงเพิ่มปริมาณการถือครองเงินบาทและการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และบางส่วนยังใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินลงทุนในระยะสั้น

สำหรับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการได้มาของเงินตราต่างประเทศ ในส่วนของธุรกิจส่งออกนั้น การแข็งค่าของเงินบาทมีผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าของไทยแพงขึ้น จึงกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเวทีโลก

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทย มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ธปท. ได้ออกมาตรการระยะสั้นเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยมีหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝกง.(21)ว. 1035 /2562 ปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการถูกใช้เป็นช่องทางการพักเงินระยะสั้นในช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยกำหนดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน (NRBS) และบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์อื่น (NRBA) ปรับลดลงจาก 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย ต่อบัญชี โดยให้สถาบันการเงินดูแลให้เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้าง ณ สิ้นวัน ไม่เกิน 200 ล้านบาท ภายในวันที่ 22 ก.ค. 62 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มมีผลบังคับเป็นต้นไป และเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนของนักลงทนต่างชาติอย่างใกล้ชิดตั้งแต่งวดเดือน ก.ค. 2562
สำหรับในระยะยาว ธปท. ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการตรียมความพร้อมและหาแนวทางลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาทิ
  • การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้สินค้าอยู่ในความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคา
  • การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น Forward Future Option เป็นต้น เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า จึงสามารถควบคุมต้นทุนละราคาขายและรับรู้กำไรที่แน่นอนในอนาคตได้
  • การมีบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศเสมอ โดยมีการรับเงินค่าสินค้าเป็นเงินสกุลต่างประเทศ และใช้เงินสกุลต่างประเทศชำระค่าวัตถุดิบโดยไม่ต้องแปลงค่าเงินเป็นเงินบาท เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกแปลี่ยน
  • การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกัน แทนการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
The exchange rate of Thai Baht

จากการดำเนินมาตรการของ ธปท. เพื่อเป็นควบคุมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะสั้น โดยมุ่งลดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น เพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทแข็งค่า จึงยังคงต้องติดตามผลของการดำเนินนโยบายของ ธปธ. ในครั้งนี้ต่อไป

ที่มา : https://pixabay.com/photos/money-banknotes-currency-forex-1578510/

แหล่งที่มา :
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/Currency_14022019.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/ForeignExchangeRegulations/Documents/QA_NRB.pdf