ปิด

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก 2019

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปี 2562

Private investment growth rate ที่มา : ข้อมูลผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP). คัดลอกจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8882

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความผันผวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 มีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ GDP ทั้งปี ในปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.3-3.8% และต่ำกว่าช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ที่มีอัตราการเติบโตของ GDP 3.6% แสดงถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา
การวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก 2562

ช่วงไตรมาสที่ 1/2562

1) อัตราการเติบโตของ GDP Private consumption growth rate

ที่มา : https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2562 มีอัตราการเติบโต 2.8% นั่นคือ เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโต แต่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยต่ำกว่าตัวเลข GDP รายไตรมาสในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีอัตราการเติบโต 5.0% ซึ่งหากพิจารณาแนวโน้ม GDP ย้อนหลัง 1 ปี (ปี 2561) จะเห็นว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 อัตราการเติบโตของ GDP มีแนวโน้มปรับลดลงและต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2562 มีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ และการแข็งค่าของเงินบาทต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์สินค้าและบริการไทยของชาวต่างชาติลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นที่สนับสนุนอัตราการเติบโตของ GDP ช่วงในไตรมาสแรก ได้แก่ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐบาล จึงทำให้ช่วงไตรมาส 1/2562 ยังคงมีอัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว

สรุปปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

เพิ่ม/ ลด

การเติบโตของ GDP

1) การบริโภคภาคเอกชน

เพิ่ม

เพิ่ม

2) การลงทุนภาคเอกชน

เพิ่ม

เพิ่ม

  • การขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

เพิ่ม

เพิ่ม

  • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

เพิ่ม

เพิ่ม

3) การใช้จ่ายรัฐบาล /การลงทุนของรัฐบาล 

เพิ่ม / ลด

เพิ่ม

4) การส่งออก 

ลด

ลด



2) การบริโภคภาคเอกชน

Private investment growth rate

ที่มา : https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884

การบริโภคภาคเอกชน มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงในอัตรา 4.6% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.4% เนื่องจากการจ้างงานและฐานรายได้ของประชนชนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ระดับ 68.1 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ที่ระดับ 67.4

3) การลงทุนภาคเอกชน

Private investment growth rate

ที่มา : https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884

การลงทุนภาคเอกชน มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูงในอัตรา 4.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.5% เนื่องจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรและรถยนต์เพิ่มขึ้น แม้ในส่วนของการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างจะมีอัตราขยายตัวลดลง

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI Private investment growth rate

ที่มา : https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884

พิจารณาจากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.- มี.ค. 2562 การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมียอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน อยู่ที่ 134.6 พันล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 76.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 36.5% และมีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน 89.1 พันล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3.8% มีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจระดับ 50.4 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ที่ 50.7

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

Private investment growth rate

ที่มา : https://www.boi.go.th/upload/content/StatisticsreportQ1_5cda3512d3e2b.pdf

และหากพิจารณาในแง่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) พบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.- มี.ค. 2562 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จำนวน 245 โครงการ มูลค่าลงทุน 8.4 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 253%) คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด (128.9 แสนล้านบาท) และในจำนวนนี้ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI จำนวน 250 โครงการ มูลค่าลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท มีแหล่งที่มาของเงินลงทุน สูงสุดมาจากจีน รองลงมา คือ ญี่ปุ่นและฮ่องกง ตามลำดับ มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

จะเห็นว่า ในช่วง 1/2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งจากมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทั้งหมด ดังนั้น FDI จึงมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเป็นเม็ดเงินที่ไหลสู่ประเทศไทยทดแทนรายได้จากต่างประเทศที่ลดลงจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงแล้ว FDI ยังมีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในประเทศด้วย

4) การใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนของรัฐบาล (+,-)

การใช้จ่ายภาครัฐ มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 3.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4% จากการซื้อสินค้าและบริการ การจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน เป็นต้น ส่วนการลงทุนภาครัฐ ปรับลดลงเล็กน้อย ในอัตรา 0.1% เป็นผลจากการลดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก

5) การส่งออก (-)

มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงค่อนข้างมากในอัตรา 3.6% และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.3% มีสาเหตุหลักจากปริมาณการส่งออกสินค้าปรับลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (Q1/2562 เท่ากับ 0.7%) รวมทั้งอัตราการว่างงานยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ช่วงไตรมาสที่ 2/2562

จากการเปิดเผยข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากการลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยการส่งออกปรับลดลงและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีการขยายตัวได้ในอัตราลดลง โดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐยังขยายตัวได้ แต่การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐกลับหดตัวลง ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพืชผลทางการเกษตรเนื่องจากสภาพอากาศร้อน มีอัตราการว่างงานทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าและยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

การปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรฐกิจไทยในปี 2562

Private investment growth rate

ที่มา : https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884

แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่จากประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2562 ของ สศช. พบว่า มีการปรับลดอัตราการเติบโตของ GDP ลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกที่ปรับลดลงมาก จากภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองโลกที่ผันผวน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาท ขณะที่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชน การอุปโภคภาครัฐบาล ยังคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐบาล ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น

ล่าสุดภาคส่วนต่างๆ ยังมีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ธนาคารโลก (World Bank) มีการปรับประมาณการ GDP ปี 2562 ของไทยลดลง จาก 3.8% เป็น 3.5% ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อดึงตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ทั้งปี ให้กลับเข้าสู่กรอบตัวเลขที่ประมาณการไว้

แนวโน้มครึ่งปีหลัง

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะมีอัตราการเติบโตเป็นไปอย่างชะลอตัว โดยยังคงมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีการคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นและกลับมาอยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ประมาณการไว้ โดยมีปัจจัยบวกมาจาก การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และการได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้าส่งออกของไทยบางรายการ และการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้า การผลิต การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย


แหล่งที่มา :
https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8886
https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8882
https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8884
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/PressThai_June2019_23NS9PO.pdf
https://www.boi.go.th/upload/content/StatisticsreportQ1_5cda3512d3e2b.pdf
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1559126