ปิด

แนวโน้มธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ใครจะรุ่ง ใครจะร่วง?

แนวโน้มธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ใครจะรุ่ง  ใครจะร่วง?
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าระทึกขวัญสำหรับทั่วทุกมุมโลก ถึงแม้ในตอนแรกการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้นในวงแคบ แต่เชื้อไวรัสดังกล่าวได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความพร้อมจึงต้องเผชิญกับยอดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ในระหว่างที่ประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าในด้านแผนการเฝ้าระวังและการรับมือยังสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยประชาชนมีความหวาดระแวง อยู่บ้านมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินทางและการพบปะกับผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับการฆ่าเชื้อ โดยเหตุการณ์นี้ได้ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมลดลงรวมทั้งยังได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
องค์กร สถาบัน รวมถึงธุรกิจทุกขนาดให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโดยอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ โดยรัฐบาลได้ประกาศปิดธุรกิจบางประเภทชั่วคราว และบางธุรกิจ เช่น สถานที่ออกกำลังกาย สนามมวย โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น ได้ตัดสินใจปิดกิจการของตนเองลง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19  นอกจากนี้ การขนส่งสาธารณะ เช่น สายการบิน รถไฟ รถประจำทาง และการขนส่งอื่นๆ ได้หยุดให้บริการ
 
อุตสาหกรรมที่ถดถอยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์วิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  จะเกิดขึ้น โดยภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากธุรกิจที่ซบเซาลงและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง  อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  อย่างเห็นได้ชัดมีดังนี้

  • อุตสาหกรรมสายการบิน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมสายการบิน เช่น การบินไทยจำเป็นต้องยื่นแผนฟื้นฟูกิจการและเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยรวมถูกสั่งห้าม จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ได้ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ลูกจ้างจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน และพนักงานอื่นๆ ของสายการบิน ตกงาน ได้รับค่าจ้างน้อยลง หรือต้องตกอยู่ในสภาพที่ขาดความแน่นอนว่าอนาคตของตนจะเป็นอย่างไร
  • อุตสาหกรรมโรงแรม โรงแรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ประสบปัญหาในระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการท่องเที่ยวลดลงเหลือศูนย์ ทุกคนเลือกที่จะอยู่บ้าน โรงแรมหลายแห่งปรับเปลี่ยนนโยบายและเปิดห้องพักให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งาน โรงแรมบางแห่งอนุญาตให้พนักงานปรุงอาหารและจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ หรือให้บริการทำความสะอาดและบำรุงรักษาบ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นเพียงการช่วยประคองธุรกิจและสนับสนุนพนักงานของตน ด้วยความหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายในที่สุด และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เห็นได้ชัดว่าประชาชนไม่มีความประสงค์ที่จะเดินทางในช่วงโควิด-19 เนื่องจากพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมแทบตลอดเวลา และเดินทางออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดครั้งนี้
  • อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม วิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอดจำหน่ายโดยรวมลดลง เช่น ที่ดินสำหรับโรงงานและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการต่างชาติไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อเข้ามาตรวจสอบที่ดินและหารือเกี่ยวกับธุรกิจในสถานที่ได้ โดยมีความเชื่อว่าหลังจากสิ้นสุดวิกฤตนี้ไปแล้ว ผู้ประกอบการที่ชะลอการตัดสินใจเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเริ่มพิจารณาจัดตั้งโรงงานใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกครั้ง รวมถึงซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมในประเทศไทย

อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงวิกฤตโควิด-19
 
ในช่วงเวลาของวิกฤตโควิด-19 ที่ยากลำบาก เราอาจคิดว่าธุรกิจทุกประเภทจำเป็นต้องถดถอย อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องอันน่าทึ่งที่ธุรกิจจำนวนมากกำลังดำเนินกิจการได้อย่างดีเยี่ยม โดยมียอดขายและลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจเหล่านี้ได้แก่:

  • อุตสาหกรรมการจัดส่งอาหาร เห็นได้ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการจัดส่งอาหาร เช่น Grab Food, Lineman, Food Panda และอื่นๆ อีกมากมาย โดยประชาชนแทบทุกคนทุกวันนี้มีการสั่งอาหารแบบจัดส่งถึงบ้านและร้านอาหารหลายแห่งได้เปลี่ยนมาขายอาหารออนไลน์ผ่านบริการจัดส่งอาหาร มีความเชื่อว่าพฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ของผู้บริโภคจะกลายเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
  • อุตสาหกรรมบริการจัดส่งพัสดุ ในช่วงกักตัว นอกจากการสั่งอาหารออนไลน์แล้ว ผู้คนยังซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าเดิมอีกด้วย ผู้คนไม่สามารถไปห้างสรรพสินค้าเหมือนเมื่อก่อนได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน นั่นคือเหตุผลที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์และใช้บริการจัดส่งพัสดุ เช่น Kerry Express, Flash Express หรือ Lalamove ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เคยมีข่าวเกี่ยวกับการขาดแคลนพนักงานในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งส่งผลกระทบและทำให้การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจล่าช้า แต่หลังจากนั้น ความขาดแคลนนั้นก็ดีขึ้นเนื่องจากมีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการสั่งอาหารออนไลน์ ผู้คนมักจะคุ้นเคยกับการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางออนไลน์ แม้ว่าการซื้อสินค้าออนไลน์จะเกิดขึ้นก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แต่วิกฤตครั้งนี้กลับเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นวิถีชีวิตรูปแบบใหม่เช่นกัน
  • อุตสาหกรรมประกันชีวิต แทบทุกบริษัทประกันชีวิตได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ประกันสำหรับโควิด-19 ที่เหมาะกับช่วงเวลานี้อย่างยิ่ง ผู้คนไม่เพียงแต่เกรงว่าตัวเองอาจจะต้องเจ็บป่วย แต่ยังเป็นห่วงว่าจะต้องใช้เวลาในการพักฟื้นที่ยาวนาน รวมทั้งอาจต้องเผชิญกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงในขณะที่มีรายได้น้อยลงในช่วงนี้ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นดำเนินไปอย่างรวดเร็วและทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ตลอด การซื้อประกันโควิด-19 จึงทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ และเบี้ยประกันก็ไม่สูงมากโดยอยู่ที่เพียงหลักร้อยเท่านั้น และบริษัทบางแห่งถึงขั้นเสนอที่จะมอบเงินนับหลายแสนบาทหากผู้เอาประกันภัยมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์จนถึงขึ้นเว็บไซต์ของบางบริษัทล่มไปเลยจากการใช้งานอย่างล้นหลาม
  • อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ตามข้อมูลสถิติพบว่ามีสัญญาณว่าผู้ประกอบการต่างชาติได้ย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เพียงเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนเท่านั้น แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังทำให้จีนถูกล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการหลายรายลดความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตและทรัพย์สินออกจากจีน ซึ่งถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อที่ดินและลงทุนสร้างโรงงานของตนเอง หรือเช่าโรงงานและอสังหาริมทรัพย์พร้อมใช้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโชคไม่ได้เข้าข้างทุกธุรกิจที่กำลังฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ทุกธุรกิจต้องปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์นี้โดยการค้นหาจุดแข็งของธุรกิจของตน ร้านอาหารแบบนั่งรับประทานในร้านได้เปลี่ยนมาใช้บริการจัดส่งแบบออนไลน์ ร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ต้องคิดหาหนทางของตนเอง เช่น ร้านซูชิหันมาขายวัตถุดิบแช่แข็งออนไลน์ ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุต้องเผชิญกับการปิดให้บริการเนื่องจากขาดแคลนแรงงานและจำเป็นต้องจ้างคนขับรถแท็กซี่เป็นพนักงานจัดส่งชั่วคราว แม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ยังเปลี่ยนกลยุทธ์และเสนอห้องพักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
 
ธุรกิจที่ปรับตัวได้จะยังคงเติบโตต่อไป แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ค่อยได้หรือปรับตัวไม่ได้เลยจะต้องปิดตัวลงไปในที่สุด