ปิด

ยกระดับอุตสาหกรรมไทย กับกำเนิดรถ EV CAR

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนับวันจะทวีความรุนแรงและกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกมากขึ้น ผู้คนหลากหลายวงการจึงหันมาใส่ใจสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานที่มีอย่างจำกัด และลดการปล่อยของเสียที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลังมานี้  ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อครองฐานการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสถานการณ์โลก 
EV CAR
ความเป็นมาของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน

แนวคิดของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV) มีมานานแล้ว และมีมาก่อนการผลิตเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine; ICE) หรือแบบที่ใช้เชื้อเพลิงซึ่งนิยมใช้กันในปัจจุบันเสียอีก โดยมีบันทึกไว้ว่าช่วงปีทศวรรษ 1820 ได้มีการคิดค้นเกี่ยวกับการใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้รถลากที่ต้องอาศัยแรงงานจากสัตว์ ซึ่งมีการพัฒนาเรื่อยมา แต่ก็มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ที่ยังใช้งานได้ไม่ดีพอ จนเมื่อปี ค.ศ. 1881 มีการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้หลักการทำงานของตะกั่ว-กรด ซึ่งใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนเป็นที่นิยมและมีการผลิตอย่างแพร่หลายในระบบอุตสาหกรรม นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่มีสมรรถภาพและใช้งานได้จริงบนท้องถนน โดยรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลกถูกบันทึกไว้ว่าผลิตโดยคนสัญชาติฝรั่งเศส Gustave Trouvé ในปี ค.ศ.1881 และมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีกหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ และ เยอรมนี โดยได้นำไปใช้เป็นต้นแบบในระบบขนส่งสาธารณะของรถไฟฟ้าในปัจจุบันด้วย

ในระหว่างนั้นก็มีการคิดค้นเครื่องยนต์ระบบใหม่ อย่างเช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งความเร็วและระยะทางที่คุ้มค่ามากกว่า จึงมีการจดสิทธิบัตรรถยนต์คันแรกที่ใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาปภายในซึ่งใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงในปี ค.ศ. 1885 โดยนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันชื่อ Karl Benz จากนั้นด้วยประสิทธิภาพและการค้นพบแหล่งเชื้อเพลิงที่มากขึ้น จึงทำให้เครื่องยนต์สันดาปภายในได้รับความนิยมกลบความเฟื่องฟูของรถไฟฟ้าไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีทศวรรษ 1940-1950 รถยนต์ไฟฟ้าก็กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อมีปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงพวกน้ำมัน แต่ก็เป็นความนิยมในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะเครื่องยนต์สันดาปภายในมีประสิทธิภาพและราคาที่คุ้มค่ามากกว่า ต่อมารถยนต์ไฟฟ้ากลับมาพลิกโฉมวงการรถยนต์อีกครั้งในช่วงปีคริสต์ศตวรรษที 21 เมื่อหลายคนต่างเล็งเห็นว่าพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้งานในปัจจุบันมีราคาแพงและมีอยู่อย่างจำกัด พร้อมทั้งต้องการหาพลังงานสะอาดทดแทนการใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปที่ทำให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีและ
ประสิทธิภาพที่พัฒนาจนสามารถใช้งานได้เท่าเทียมกับเครื่องยนต์แบบใช้เชื้อเพลิง และมีแนวโน้มราคาถูกลงมากกว่าเดิมด้วย 

เครื่องยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 

    1. เครื่องยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid electric vehicle; HEV)
    2. เครื่องยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid electric vehicle; PHEV)
    3. เครื่องยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery electric vehicle; BEV)
    4.  เครื่องยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell electric vehicle; FCEV)

เจาะลึกอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยและความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง

ในปี ค.ศ. 2019 ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับที่ 11 ของโลก และติดอันดับ Top 5 ของโซนเอเชีย โดยเป็นฐานการผลิตรถยนต์มายาวนานกว่า 60 ปี จึงถือว่าค่อนข้างมีความพร้อมในด้านการจัดการอย่างมีคุณภาพ โดยมีพื้นที่เขตอุตสาหกรรม แรงงงาน และวัตถุดิบชื้นส่วนประกอบเครื่องยนต์พร้อมสำหรับการสร้างงานได้อย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกทั้งชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง และปราจีนบุรี ที่มีความสะดวกสบายแบบรอบด้านทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์คุณภาพที่อยู่รายล้อม สามารถเชื่อมโยงการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างกับการผลิตรถยนต์ระบบสันดาปภายใน ซึ่งความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือระบบเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน รวมถึงอะไหล่ทดแทนที่มีอายุการใช้นานกว่า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าสามารถถนอมระบบเครื่องยนต์ได้ดีกว่า ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยก็เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านจากระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมผสานหรือแบบไฮบริด (HEV) ที่ใช้ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงผสมกับแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สามารถเก็บพลังงานที่เกิดขึ้นไว้ใช้ภายหลัง รวมถึง PHEV ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องยนต์ไฮบริดแต่มีระบบที่สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟเพิ่มเข้ามา และ BEV ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอื่นก็ยังถือว่ามีปริมาณน้อยอยู่ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยที่พัฒนาได้เท่าเทียมกับระดับสากล 

จุดเด่นของการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ นอกจากนี้ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเข้าร่วม Paris agreement ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี  พ.ศ. 2573 ซึ่งการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์แบบสันดาปภายในก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงเชื่อมั่นได้ว่าการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะมีการเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างแน่นอน 

รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่มีอย่างจำกัดและสร้างพลังงานสะอาด ใครที่สร้างโอกาสได้เร็วกว่าย่อมประสบผลสำเร็จได้มากกว่า และสำหรับใครที่ต้องการหาพื้นที่เพื่อการทำอุตสาหกรรม สามารถดูรายละเอียดในเว็บไซต์ได้ที่ https://www.304industrialpark.com/th/ 

แหล่งที่มาของข้อมูล