ผ่านพ้นกันได้ด้วยดีสำหรับการเข้าพิธีสาบานตนของนายโจ ไบเดน เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากการหน้านี้มีเหตุการณ์จลาจลเพื่อขัดขวางการประชุมใหญ่ของสภาคองเกรส เพื่อรับรองมติเพื่อให้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ส่งผลให้ทั่วโลกต่างจับจ้องและเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เลือกที่จะใช้หลัก America First ภายหลังที่คิดว่าทางอเมริกาโดนเอารัดเอาเปรียบกับชาติพันธมิตรมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคงกำลังทหารในตะวันออกกลางที่ชาติพันธมิตรจะต้องช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทหารเอาไว้และที่เป็นเรื่องฮือฮามากที่สุดเห็นที่จะไม่เป็นอื่นไกลไม่ได้กับการขึ้นภาษีสินค้ากับชาติที่ซื้อขายกับสหรัฐแล้วทำให้สหรัฐขาดดุล อย่าง จีน เกาหลี อินเดียและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั้งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบไปด้วยหรือแม้แต่บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ไปลงทุนต่างประเทศก็มีการเก็บภาษีที่แพงมากยิ่งขึ้น เพื่อกดดันให้ย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนเอง
ส่องนโยบาย โจ ไบเดน ก่อนก้าวสู่การเป็นผู้นำสหรัฐคนใหม่
- จะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มสำหรับผู้มีรายได้สูง เพื่อนำมาลงทุนในระบบสาธารณะ โดยจะเก็บภาษีสำหรับบุคคลที่มีรายได้มากกว่า $400,000 / ปี
- เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม $7.25 / ชั่วโมง เป็น $15 / ชั่วโมง
- การนำสหรัฐกลับเข้าสู่สนธิสัญญาปารีส เพื่อให้ความร่วมมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการกลับเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก
- การนำสหรัฐเข้าร่วมสนธิสัญญาหรือเป็นสมาชิกอีกหลายแห่ง ที่ก่อนหน้านี้ทางโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำการยกเลิกและถอนตัวออกมา
ซึ่งทั้ง 3 หัวข้อนี้ถือส่งผลกระทบต่อระบบระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาคการผลิต นำเข้า-ส่งออก ตลอดจนเงินทุนที่จะเข้ามาเพื่อลงในประเทศไทยหรือในแถบประเทศอาเซียนนี้
ผลกระทบของนโยบายสหรัฐกับประเทศไทย
จากนโยบายดังกล่าวถือว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ประเทศไทยและเอกชนที่ทำการค้าขายกับประเทศสหรัฐอเมริกา จะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหา อย่างการตัดสิทธิ์จีเอสพีหรือการกดดันขึ้นภาษีเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละธุรกิจดังนี้
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางบวก
ธุรกิจที่คาดว่าจะได้ผลตอบรับที่ดีจากนโยบายของโจ ไบเดน คือภาคการผลิตและการลงทุน เนื่องจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากถึง 100% จะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมาจากค่าแรงที่พุ่งเกินเท่าตัวจากเดิมทีอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เปลี่ยนมาเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง คาดว่าจะส่งผลให้หลายธุรกิจทบทวนและหาแหล่งลงทุนใหม่ที่ใช้แรงงานราคาถูก ในขณะที่แหล่งลงทุนนั้นจะต้องเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย โดยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเป้าสนใจของนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างอเมริกา ได้แก่กลุ่มในประเทศอาเซี่ยนที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในประเทศไทยเองก็กำลังปรับปรุงและปฏิรูปในเรื่องของระบบรางและการขนส่งตลอดจนการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่าง EEC เป็นต้น รวมไปถึงการมอบสิทธิพิเศษอื่น ๆ ทางภาษีอีกมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
เมื่อสหรัฐกลับเข้ามาเป็นสมาชิกสนธิสัญญาปารีส สิ่งที่จะตามมาคือการผลิตรถไฟฟ้าหรือรถ EV ซึ่งหลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต่างพากันทำข้อตกลงจะเลิกผลิตรถใช้น้ำมันและหันมาผลิตรถ EV กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยเองเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ส่งออก ที่มีศักยภาพไม่แพ้ชาติอื่น ๆ ในแถบอาเซียนนี้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อกับ 3 สนามบินหลักได้แก่ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งและลดเวลาในการเดินทางลงอีกด้วย
- ธุรกิจที่ได้รับกระทบทางลบ
หนึ่งในนโยบายหลักของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐนั่นก็คือการผลักดันให้ลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและหันไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการกลับเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาปารีสเพื่อแสดงเจตนารมณ์ถึงความต้องการในการลดการสร้างผลกระทบต่อสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลก ด้วยการตั้งเป้าเพื่อนำสหรัฐเข้าสู่ยุคไร้มลพิษในปี 2050 และตั้งเป้าแบนพื้นที่สำหรับขุดเจาะน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ นั่นอาจส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมัน ถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง แต่ก็จะเป็นผลดีต่อธุรกิจขนส่งที่ทำให้ต้นทุนการใช้น้ำมันลดลง รวมไปถึงธุรกิจพลังงานสะอาดกระบวนการผลิตอุปกรณ์การใช้งานและติดตั้งก็จะได้อานิสงค์บวกด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นน่าจับตามองคือธุรกิจที่ใช้แรงงานโดยเฉพาะการค้ามนุษย์ หากไทยยังใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายและไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน อาจส่งผลต่อการปรับลดสถานะหรือตัดสิทธิ GSP ได้ เช่น การประมงเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น มีการแบนสินค้าทะเลจากประเทศไทยทั้งในสหรัฐและยุโรปส่งผลให้ธุรกิจประมงต้องหยุดชนักและได้รับความเสียหายจำนวนมาก ก่อนที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขสถานะให้กลับมาซื้อขายกันได้อีกครั้ง แต่สิทธิพิเศษในด้านภาษีและอื่น ๆ ยังไม่ได้รับกลับคืนมาเหมือนเดิม
สร้างจุดเด่น ชูจุดแข็ง ตอบรับโอกาสในด้านการลงทุน
เนื่องจากจุดเด่นของประเทศไทยในแถบภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้คือประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค โดยเฉพาะในแถบ CLMV หากทำระบบขนส่งที่สามารถช่วยลดเวลาการเดินทางและสร้างโกดังสินค้าเพื่อเป็นที่กระจายสินค้าไปยัง CLMV ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตลดต้นทุนลงได้ รวมไปถึงการตั้งโรงงานการผลิตในประเทศเมื่อต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศ CLMV ก็จะง่ายขึ้น เมื่อต้องการให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งไปยังประเทศดังกล่าวแล้ว การพัฒนาห้องเย็นหรือวิธีการจัดเก็บให้สินค้าดูสดใหม่และคงสภาพเดิมไว้นานที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปลายทางจะได้สินค้าที่มีคุณภาพละขายได้ในราคาดี
ด้านการพยาบาลและการรักษา ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากหลากหลายประเทศทั่วโลกว่ามีระบบการแพทย์และการพยาบาลที่ดีที่สุดและอาจเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชียเลยก็ได้ เพราะนอกจากจะมีแพทย์ พยาบาลที่เก่งและมีฝีมือดีแล้ว ราคาค่ารักษาพยาบาลยังถูกกว่าในต่างประเทศอีกด้วย จึงได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
บทสรุปนโยบายสหรัฐต่อการลงทุนในประเทศไทย
หลังจากที่รับรู้ถึงนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในภาคธุรกิจเอกชนควรเตรียมความพร้อมของเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุน ด้วยการติดตามข่าวความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนของหอการค้าในพื้นที่ที่ตนเองมีที่ตั้งอยู่หรือพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ทดแทนการใช้แรงงานของมนุษย์ เพราะไม่เพียงแต่หุ่นยนต์จะช่วยในเรื่องของการผลิต แต่ยังช่วยในเรื่องของการขนส่งและโลจิสติกส์อีกด้วย เช่น การเคลื่อนย้ายสิ่งของ เป็นต้น การปรับเปลี่ยนและปรับปรุงห้องเย็นให้สามารถยืดอายุการจัดเก็บสินค้าไว้ได้นานมากขึ้น เพราะก่อนนี้ที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบและเสียหายจำนวนมาก เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกไปนั้นไม่ได้คุณภาพ เพราะไม่สดทำให้ขายไม่ได้ราคาที่ดี การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้ตอบสนองต่อการผลิตและการบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของแรงงานไทยอยู่มาก รวมไปถึงการผลิตสินค้าอื่น ๆ ภายใต้ข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา จะต้องนำมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถผลิตให้ได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วการเติบโตทางธุรกิจของประเทศไทยจะเกิดขึ้นและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีได้คนไทยด้วยกันเองต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน เพราะหากเศรษฐกิจประเทศดี ทุกคนก็จะมีรายรับที่ดีตามไปด้วย มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีขึ้นด้วย
ที่มาข้อมูล