แม้ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ใช่เป้าหมายหลักของการลงทุนจากต่างประเทศ เหตุเพราะปัจจัยภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล ต่างชูกลยุทธ์ในการเสียงด้วยการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่เสมอ ๆ ส่งผลให้กระทบต่อต้นทุนในการดำเนินกิจการเป็นอย่างมาก ส่งผลให้บางกิจการต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของภาษีนิติบุคคลและกฎหมายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเอื้อต่อกระบวนการผลิต จึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในระดับเดียวกันได้ แต่ถึงกระนั้นยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ประเทศไทยยังมีกลุ่มทุนที่เล็งเห็นโอกาสและเลือกที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะมีปัจจัยใดบ้างนั้นไปดูกันเลย
4 ปัจจัยหลักที่ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทย
1.ข้อกฎหมายที่กำลังจะได้รับการแก้ไข
ปัจจุบันภาคเอกชนต่างเร่งรัดให้ภาครัฐกลับไปทบทวนและแก้ไขปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมากถึง 20 ฉบับ เพราะกฎหมายดังกล่าวมีความล้าหลัง แถมหลายขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและไม่ได้เปรียบคู่แข่งที่มีฐานการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก่อนหน้านั้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีการปรับลดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจากเดิมร้อยละ 30 มาเป็นร้อยละ 20 กันมาแล้ว ทั้งนี้ในรัฐบาลปัจจุบันที่มีคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไทย ได้เปิดเผยว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 นี้จะได้เห็นนโยบายดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นนโยบายใดนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะที่ผ่านมาด้วยนโยบาย คนละครึ่ง, เราชนะ ต่างก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่ธนาคารโลกคาดการเศรษฐกิจไทยติดลบมากถึง 8.3% และอาจเลวร้ายถึง 10.4% จากผลกระทบของโรคระบาด ซึ่งเมื่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาครบทั้ง 4 ไตรมาส ปรากฏว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเพียง 6.1% เท่านั้น
2.เป็นศูนย์กลางของอาเซียน
ด้วยทำเลและที่ตั้งของประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน อาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน สามารถที่จะกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้โดยง่าย โดยเฉพาะการขนส่งทางบกด้วยระบบรางที่มีความคืบหน้าไปมาก ภายหลังจากที่มีการเซ็นสัญญา รถไฟไฮสปีด ไทย-ลาว-จีน เมื่อปี 2562 และระบบรางภายในประเทศอีกกว่า 5 สายซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 จึงทำให้การขนส่งและการคมนาคมต่าง ๆ จากจีนไปยังพม่า, อินเดีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซียและกัมพูชา ต้องผ่านประเทศไทย คาดว่าจะมีสินค้านำเข้าและส่งออกในปริมาณที่มาก ดังจะเห็นได้จากบริษัทขนส่งข้ามชาติเริ่มเข้ามาลงทุนระบบขนส่งกันจำนวนมาก นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟยังได้รับการพัฒนาทางด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
3. วัตถุดิบและชิ้นส่วนในการผลิตมีเพียงพอ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนให้บริษัทจากต่างประเทศยังคงรักษาฐานการผลิตและเข้ามาลงทุนเพิ่มคือวัตถุดิบและชิ้นส่วนในการผลิตมีเพียงพอ โดยเฉพาะโรงงานสำเร็จรูปที่พร้อมเข้าดำเนินกิจการได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังมี Supplier จำนวนมากให้เลือกใช้งาน เพราะเดิมทีประเทศไทยก็เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและสินค้าให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกอยู่ก่อนแล้ว นักลงทุนที่เข้ามาจึงไม่ต้องเริ่มหา Supplier หรือวัตถุดิบใหม่เพื่อผลิตชิ้นส่วนสินค้า หากแต่เปลี่ยนรูปแบบและเทคโนโลยีในการผลิตตลอดจนมาตรฐานการผลิตใหม่ เพียงเท่านี้ก็สามารถเริ่มดำเนินกิจการได้แล้ว
4. โครงสร้างพื้นฐานโดยรวมเพียงพอ
ในบรรดาชาติอาเซียนทั้งหมด ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภค อุปโภคครบถ้วนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ, ระบบไฟฟ้า, การธนาคาร, ระบบการขนส่งและการคมนาคมหรือแม้แต่ทางด้านการแพทย์ ดังนั้นการไปเริ่มต้นใหม่ยังประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีความพร้อมอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไขและปรับปรุง ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงเป็นอย่างมาก โดยเพราะเทคโนโลยีและการสื่อสารที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ไม่รวมถึงระบบดิจิทัลอื่น ๆ ที่ทั่วโลกกำลังจะก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง
ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างประเทศไทยจึงยังเหมาะสมต่อการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนที่พร้อมจะเริ่มนับหนึ่งโดยไม่ต้องการเริ่มต้นที่ศูนย์ ด้วยการเช่าโรงงานสำเร็จรูป, คลังสินค้าและอื่น ๆ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินกิจการและลดต้นทุน โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตและการตลาดในการขายสินค้าเพื่อทำกำไรในอนาคต
ที่มาข้อมูล