ปิด

ส่งออกไทย 5 เดือนแรก 2564 ขยายตัวกว่า 10.78% เติบโตในรอบ 6 ปี

ส่งออกไทย
สำหรับประเทศไทยในปี 2564 แม้ว่าไทยยังต้องเผชิญกับการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังร่วมมือกันอย่างหนักเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม หนึ่งภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นั่นคือ ภาคการส่งออก ซึ่งจากตัวเลขการส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ขยายตัวกว่า 10.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออก ในเดือน ม.ค.-พ.ค. 2564 ของไทย เท่ากับ 108,635.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 มีมูลค่าการส่งออกที่ 98,062.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.78% และเติบโตเกือบสูงที่สุดเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออก 5 เดือนของปี 2559-2563 ที่มีอัตราการเติบโตของการส่งออกที่ -3.55% ถึง 12.35% ยกเว้นปี 2561 ที่มีอัตราโตเติบของมูลค่าการส่งออกที่ 12.35% สาเหตุหลักเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ภายหลังจากการจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ได้ดีขึ้นในต่างประเทศ โดยการผลักดันให้เกิดการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ การฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ และเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 2564 เท่ากับ  23,057.9 ล้านเหรียญสหรัฐ พบว่าขยายตัวกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน และสหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวทุกตลาด โดยขยายตัวสูงสุดในสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ขณะที่ตลาดที่หดตัวและกดดันการส่งออก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ กาบอง อังโกลา อุซเบกิสถาน และจอร์แดน

สินค้าส่งออกหลัก 15 รายการแรกของไทย มีการขยายตัวเกือบทุกรายการ ยกเว้นอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสินค้าส่งออกหลัก 3 รายการแรกที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด ได้แก่ 
อันดับ 1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีสัดส่วน 11.42% ขยายตัว 48.47% 
อันดับที่ 2 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีสัดส่วน 7.84 ขยายตัว 15.14% 
อันดับที่ 3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง 5.79 % ขยายตัว 48.47% 

นอกจากนี้ สินค้าหลักอีกหลายรายการที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่  เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, ยางพารา และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกทั้งปีของปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวติดต่อกันมา 5 เดือน การปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศต่างๆ ภายหลังจากมาตรการคลายล็อคดาวน์จากบริหารจัดการและการฉีดวัคซันโรคโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพในประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลสนับสนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัว โดยมีการคาดการณ์จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าตัวเลขการส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัว 4-6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3-5%  และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกปี 2564 ทั้งปีขยายตัวอยู่ที่  6-7% 

ภาคการส่งออกไทยนับเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปี 2564 จากตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวล้วนก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การผลิต และการลงทุน และยังเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนใน นิคมอุตสาหกรรม ในประเทศไทยให้ขยายตัว เนื่องจากความพร้อมด้านสาธารณูปโภค การขนส่ง และมาตรการสนับสนุนการลงทุนใน นิคมอุตสาหกรรม ของภาครัฐของไทย ส่งผลให้เกิดการเติบโตของลงทุนใน นิคมอุตสาหกรรม ของประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย 


ที่มาข้อมูล :