ไทยแลนด์ 4.0 คือ นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากผู้รับจ้างผลิตสู่การเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ประชากรมีรายได้สูง โดยให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมภายในประเทศ การที่จะให้ทุกอุตสาหกรรมได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการพัฒนาความรู้แบบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นตัวขับเคลื่อน
IoT Platform คืออะไร
IoT Platform คือซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการที่ช่วยในการสนับสนุน เชื่อมต่อระหว่างฮาร์ดแวร์, อุปกรณ์และเซ็นเซอร์อื่น ๆ ให้สามารถทำงานร่วมกัน ทั้งการสื่อสารและส่งข้อมูล การบริหารจัดการฮาร์ดแวร์ด้วยโปรโตคอลที่แตกต่างกัน การตรวจจับ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือเน็ตเวิร์กภายใน เพื่อสร้างความสะดวก สบายในการดำเนินชีวิตประจำวัน
IoT Platform มีความสามารถอะไร
ปัจจุบันมี IoT Platform ที่ได้รับการพัฒนาโดยฝีมือคนไทยเพื่อนำไปใช้งานให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ Smart Farmer ในเรื่องของการให้น้ำเมื่ออุณหภูมิและความชื้นในดินต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ การใช้ Big Data เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในเรื่องของ Smart Home เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่เจ้าของบ้านและผู้ใช้งาน , อุตสาหกรรมทางการแพทย์และยา เช่น การนำไปใช้กับตู้ควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บรักษายา, รูปแบบ Smart Watch หรือนาฬิกาสุขภาพที่ช่วยในการตรวจจับชีพจร, สัญญาณหัวใจ, การนับก้าวเดินในการออกกำลังกายและที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดเกี่ยวกับการนำรถจักรยานมาให้เช่าติด GPS เมื่อมีคนสนใจจะเช่า เพียงโหลดแอปพลิเคชันจากนั้นลงทะเบียนแล้วสแกน QR Code ระบบจะปลดล็อกจักรยาน ผู้เช่าสามารถนำรถจักรยานไปใช้งานได้ทันที เมื่อถึงปลายทางเพียงกดล็อกจากแอปพลิเคชัน ระบบก็จะตัดเงินค่าเช่าจากแอปฯตามจำนวนและเวลาที่ใช้ไป
ปัจจุบัน ไทยมี Platform นี้หรือยัง
การพัฒนาระบบ IoT Platform ของไทยเกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากสักเท่าใดและขาดการพัฒนาและต่อยอด โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่นำไปพัฒนาและต่อยอดเพื่อใช้งานในระบบของตนเองเช่น กลุ่มบริษัท ปตท. ที่นำระบบ IoT ไปประยุกต์ใช้กับระบบตรวจสอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ด้วยเซ็นเซอร์เพื่อส่งข้อมูลให้ผู้ควบคุมได้รู้ทันที, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) นำไปพัฒนาภายใต้ชื่อ AIS NB-IoT ที่มีแพลตฟอร์มชื่อ Magellan โดยเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้ทดลองใช้ฟรี นอกจากนี้ยังมี IoT Platform ฝีมือคนไทยอีกมาก เช่น NETPIE, Anto.io, True NB-IoT และ ioTtweet
มีการนำ IoT ไปต่อยอดธุรกิจอะไรบ้าง
จากที่กล่าวมาข้างต้นมีเพียงบริษัทเอกชนและภาครัฐบางแห่งที่นำระบบ IoT ไปต่อยอดอย่างจริงจัง เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของระบบนี้มาก แต่การนำไปประยุกต์ใช้ของประชาชนหรือบริษัทเอกชนขนาดเล็กยังถือว่าห่างไกลนัก เพราะการสร้างแพลตฟอร์มจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการเขียนโปรแกรมจึงจะนำไปใช้และต่อยอดธุรกิจได้อย่างเต็มความสามารถหรือการพัฒนาระบบของซอฟต์แวร์ให้มีความอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยให้คนทั่วไปใช้งานเหมือนเป็นเพียงคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพียงแค่กดปุ่มก็สามารถใช้งานได้อย่างอัตโนมัติแล้วหรือการนำอุปกรณ์มาต่อเข้ากับแผงวงจร ลงซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่จะใช้งานเหมือนคอมพิวเตอร์ประกอบเครื่องหนึ่งก็สามารถใช้งานได้ในทันที
ยกตัวอย่างสินค้า IoT ในตลาดปัจจุบัน
• Smart Watch
• โดรนเพื่อการเกษตร แบบตั้งปุ่มไป-กลับด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม
• เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ
• เครื่องตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นในดินและยา
• ระบบการจราจรอัจฉริยะ
• ระบบควบคุมความเร็วรถติด GPS
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายต่างเข้ารับการช่วยเหลือและเงินสนับสนุนการลงทุนจากกองทุนการส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อตั้งมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น ชุด Smart Bridge เพื่อเชื่อมคำสั่งไปยังอุปกรณ์ควบคุมแสงสว่างผ่านการใช้งานด้วยสมาร์ทโฟน โดยมีการผลิตและจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดได้จริงแล้ว นอกจากการส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่คอยให้การช่วยเหลือนักลงทุนที่อยู่ในเขต สวนอุตสาหกรรม และรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเมื่ออุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่ง เทคโนโลยี IoT เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจาก BOI แม้จะไม่ได้อยู่ในเขต นิคมอุตสาหกรรม ก็ตาม
ที่มาของข้อมูล