ปิด

ส่องอุตสาหกรรม PCB ประเทศไทย หลังอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าได้รับการตอบรับในประเทศไทย

ส่องอุตสาหกรรม PCB ประเทศไทย หลังอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าได้รับการตอบรับในประเทศไทย
อุตสาหกรรมผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Print Circuit Board : PCB) ของประเทศไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมีโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ OEM จำนวนมากใน นิคมอุตสาหกรรม  ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน, คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สำนักงานและการสื่อสาร, กล้องวงจรปิดและอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 50 ปี พร้อมให้สิทธิพิเศษทางภาษีและประโยชน์อื่น ๆ ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  

  • จำนวนผู้ผลิต และมูลค่าการส่งออก
ตลาดแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ทั่วโลกคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ประมาณ 3.3% ในช่วงปี 2564 ถึง 2569 โดยในปี 2563 ตลาดมีมูลค่าประมาณ  7 หมื่นล้านดอลลาร์และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี จะเห็นได้ว่าตลาดแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเพราะความต้องการจำนวนมากสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนผ่านค่อนข้างเร็ว ดังจะเห็นได้จากสินค้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากและอายุของรุ่นที่นำมาจำหน่ายมักจะอยู่ไม่ค่อยนาน

  • การแข่งขันและปัญหาที่พบ
ภายหลังสถานการณ์น้ำท่วม นิคมอุตสาหกรรม หลายแห่งในปี 2554 ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยบางไลน์ผลิตต้องหยุดชะงัก ทำให้บริษัทแม่ที่เป็น OEM ต่างกระจายความเสี่ยงด้วยการไปลงทุนในประเทศอื่นในแถบอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ปริมาณการส่งออกค่อย ๆ ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี คนหันไปใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน ผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขาดแคลน เนื่องจากนโยบายปิดประเทศของหลาย ๆ ประเทศ ส่งผลให้หลายบริษัทที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ต่างย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่พบอีกอย่างหนึ่งคือในผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก ต่างเป็นผู้ผลิตรับจ้างช่วง (Subcontractors) ที่มีข้อจำกัดในเทคโนโลยี อีกทั้งยังขาดการลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จึงทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ช้าเมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ใน สวนอุตสาหกรรม เดียวกัน เช่น การเปลี่ยนไลน์ผลิตฮาร์ดดิสก์จาก SATA มาเป็น SSD ก่อนที่จะมาเป็น NVMe M2 เพียงไม่กี่ปี ที่มีขนาดเล็กเกือบเท่า RAM คอมพิวเตอร์  เป็นต้น

  • แนวโน้มและสถานการณ์ในอนาคต
ทิศทางของอุตสาหกรรม PCB (Print Circuit Board) ในอนาคตถือว่ายังสดใส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและ IoT ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ สืบเนื่องมาจากความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภท PCB เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพและแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้ อาจจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผลิตทดแทนแรงงานและงานวิจัยอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ดังจะเห็นได้จากการกระจายการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เช่น Foxconn บริษัทผลิตชิปอันดับต้น ๆ ของโลกสัญชาติไต้หวัน ได้ตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเป็นการร่วมลงทุนกับ ปตท.และยังมี BYD ที่ตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมียักษ์ใหญ่ในวงการรถไฟฟ้าจากประเทศจีนที่เล็งใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อขายและส่งออกในภูมิภาคอาเซียนแห่งนี้ รวมถึง TESLA ที่เดิมทีจะลงทุนเพียงแค่โชว์รูมจำหน่ายรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 253 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เป็นเพียงแค่โชว์รูมจำหน่ายรถเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ที่มาข้อมูล