ปิด

บอนด์ยีล คืออะไร ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ทองคำและค่าเงินอย่างไร

บอนด์ยีล (Bond Yield ) คือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ที่จัดอยู่ในรูปของดอกเบี้ย มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปริมาณผลตอบแทนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของพันธบัตรนั้น ๆ ยิ่งพันธบัตรระยะสั้นมากผลตอบแทนก็จะต่ำ ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวก็จะมีผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่สิ่งที่เป็นประเด็นในปัจจุบันนี้คือท่าทีของ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยตกต่ำมาตลอดในช่วงที่ทำ QE จนกระทั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมาผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่แบบมีนัยยะ ส่งผลให้นักลงทุนที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงสูงจากการลงทุนในตลาดหุ้น หันมาสนใจ Bond Yield จนทำให้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การขึ้นลงของบอนด์ยีลส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ทองคำและค่าเงินอย่างไร
บอนด์ยีล

ที่มาของรูป : CNBC ผลตอบแทนพันธบัตร และ ดัชนี S&P500

จากรูปจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนของ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาสวนทางกันกับผลตอบแทนในการลงทุนในตลาดหุ้น S&P 500 ในขณะที่สินทรัพย์อย่างทองคำเองก็เช่นเดียวกัน ภายหลังจากที่ทำราคาจุดสูงสุดใหม่ที่ 2089.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2020 และแนวโน้มของราคายังคงต่ำลงเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าจะกลับขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนในหุ้นและทองคำต่างกังวลกันก็คือ อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี มีการปรับตัวสูงขึ้นจนราคาสามารถกลับมายืน ณ จุด เกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 นี้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ภายใต้การเข้ามาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่พร้อมจะอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐในครั้งใหญ่นี้ นั่นหมายความว่าจะเกิดการลงทุนใน Real Sector และการจ้างงานจำนวนมากเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีค่าจ้างแรงงานในอัตราต่ำกว่าภายในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสำหรับเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปได้ว่าในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมานั้น เริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มีปริมาณการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นั่นแสดงว่ายังมีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจและลงทุนในประเทศไทยอยู่มากแม้เพิ่งจะผ่านวิกฤตโควิด-19ไปไม่นาน

แนะนำวิธีการสังเกตุและเอาตัวรอด เมื่อวิกฤตมาเยือน
คนส่วนใหญ่ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าช่วงต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเพราะการระบาดของไวรัส แต่ถ้าหากลองพิจารณาและดูสถิติการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจย้อนหลังจะพบว่าทุกครั้งที่เกิดมักจะตามมาด้วยการล้มของสถาบันการเงินเสมอ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดในประเทศไทยที่ทำเอาสถาบันการเงินต้องปิดตัวลงไปมากกว่า 30 บริษัทและวิกฤต ซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ เลห์มัน บราเธอร์ส และ AIGถึงขั้นล้มละลายในขณะที่ต้นปี 2020 กลับมองว่าเป็นแค่สัญญาณเตือนถึงฟองสบู่ขนาดยักษ์ที่รอการระเบิด เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ประเทศที่ทำ QE ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนใกล้ศูนย์ สิ่งสำคัญเมื่อตัวเรากำลังจะเข้าสู่ในวิกฤตเริ่มต้นจะสามารถสังเกตหรือเห็นสัญญาณล่วงหน้าได้อย่างไรนั่นคือสิ่งที่ควรหาคำตอบและระมัดระวังไว้มากกว่า 
  • แนวโน้มและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวที่สูงขึ้น ภายหลังจากมาตรการ QE ที่แต่ละประเทศประกาศพิมพ์เงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยจนเกือบติดลบ จึงไม่แปลกใจหากจะมีการกู้เงินไปลงทุนเหมือนได้เปล่า แม้จะมีการประชุมของเฟดเกี่ยวกับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ยังไม่สามารถที่จะปรับเพิ่มหรือลดมากไปกว่านี้ได้ นักลงทุนจึงควรเฝ้าระวังหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแบบมีนัยยะ เช่น ปรับขึ้นติดต่อกัน 3-4 ไตรมาส เป็นต้น 
  • เงินมักจะไหลไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเสมอ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้เลยว่าเงินในการลงทุนมักจะวิ่งไปหาผลตอบแทนที่มากเสมอ คงไม่มีใครอยากลงทุนเยอะแล้วได้ผลตอบแทนน้อย ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นและมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น คนก็จะลดความเสี่ยงและมองหาผลตอบแทนทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำและมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตัวชี้บ่งได้เลยว่ามีเงินไหลเข้าไปลงทุนมากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น, ทองคำและค่าเงินมากน้อยแค่ไหน
จะให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างไร เมื่อวิกฤตมาเยือน
หลายคนที่สงสัยว่ามีวิธีในการเอาตัวรอดจากวิกฤตได้ด้วยหรือ? ซึ่งหากพิจารณากันให้ดีวิกฤตก็คือโอกาสของคนที่มองเห็นปัญหาเพราะเหรียญเองยังมีด้วยกันสองด้านเสมอ ซึ่งจะมีวิธีในการเอาตัวรอดได้ได้อย่างไรนั้นไปดูกันเลย
  • ของถูกเต็มตลาด สำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์สูง หากมองเห็นถึงสัญญาณเตือนล่วงหน้ามักจะสะสมเงินสดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีเงินในการเข้าซื้อธุรกิจที่ตนเองต้องการหรือแม้แต่หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ แม้แต่เครื่องจักรในการผลิตที่มักจะเอามาไว้ใช้ในการผลิตเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น
  • โอกาสในการขยายกิจการและทำกำไรมากยิ่งขึ้น เมื่อบรรดาคู่แข่งต่างหกล้มด้วยพิษเศรษฐกิจ นี่จึงเป็นโอกาสของอีกธุรกิจที่มีกำลังและเงินทุนและความพร้อมในการรุกขยายกิจการและสร้างฐานลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เช่น การใช้วิธีการเช่าคลังสินค้ามากกว่าการก่อสร้างใหม่ หรือเช่าโรงงานสำเร็จรูปที่พร้อมผลิตได้ในทันที เป็นต้น
  • ลดน้ำหนัก เพื่อความกระชับและคล่องตัวมากที่สุด ในช่วงเศรษฐกิจกำลังดี หลายบริษัทมักจะไม่พบปัญหาหรือพบแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อเจอวิกฤตจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับลดส่วนงานที่ไม่จำเป็นหรือเกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรือสิ้นเปลืองงบประมาณในการผลิตสินค้า นี่จึงเป็นโอกาสในการปรับลดองค์กร เพื่อให้การทำงานเต็มไปด้วยประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตใด ๆ ก็ตาม มักจะมีสัญญาณให้ทุกคนได้รับรู้ก่อนเสมอ เพียงแต่บางสัญญาณอาจจะแผ่วเบาจนไม่สามารถรู้สึกได้ เปรียบเสมือนทฤษฎีการต้มกบ ที่นำกบมาใส่ลงในหม้อที่มีน้ำปกติ จากนั้นนำไปต้มด้วยการค่อย ๆเพิ่มไฟทีละนิด ๆ เพื่อให้กบได้ปรับตัวจนไม่รู้สึกว่าน้ำนั้นค่อย ๆ ร้อนขึ้น ๆ ซึ่งกว่ากบตัวนั้นจะรู้กลายเป็นกบที่สุกไปเสียแล้ว การลงทุนเองก็เช่นกันควรเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะข้อมูลทางการเงิน ดอกเบี้ย หุ้น ทองคำและการลงทุนต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีให้แก่นักลงทุนได้

ที่มาข้อมูล